ขมิ้น

ขมิ้น คืออะไร

Turmeric หรือ ขมิ้น เป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศที่มีมาอย่างช้านานในประเทศไทย ลักษณะเด่นคือมีสีเหลืองสด รสชาติจัดจ้าน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทั่วไปเราก็จะนำมาทำอาหารหรือรับประทานสด ๆ ฉะนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับขมิ้นให้ดีมากขึ้น 

ทำไมต้องเป็นขมิ้น 

ขมิ้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนทั่วไปนิยมปลูกชนิดของขมิ้น 2 ชนิดด้วยกัน คือ ขมิ้นชันและขมิ้นอ้อย ซึ่งลักษณะจะคล้ายคลึงกัน แต่คุณสมบัติหรือสารอาหารแทบไม่ต่างกันเลย มีการบันทึกประวัติศาสตร์การใช้ขมิ้นตั้งแต่โบราณกาลไว้ว่าเกี่ยวข้องกับยาจีนโบราณ อายุรเวทศาสตร์ และพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ครั้นเมื่อยุโรปตอนกลางขมิ้นถูกเรียกว่าหญ้าฝรั่นอินเดีย ซึ่งขมิ้นจะเจริญเติบโตได้ในสภาวะร้อนชื้น ต้องมีปริมาณน้ำฝนต่อปีจำนวนมากเพื่อการขยายพันธุ์  โดยทั่วไปขมิ้นที่เราเห็นจะมาในรูปแบบของผงบดละเอียดด้วยกระบวนการทำแห้ง  ใช้ในการแต่งสีในอาหารเอเชียหลายชนชาติ เช่น อาหารอินเดียที่นิยมใช้เพื่อดับกลิ่นสาปเนื้อสัตว์ อาหารมาเลย์ที่นิยมคลุกกับข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความรู้สึกเผ็ดร้อนในปาก คล้ายกับพริกไทยดำ ส่วนกลิ่นจะคล้ายกับมัสตาร์ด ในทางโภชนาการนั้นพบว่าขมิ้นมีคาร์โบไฮเดรต 60-70% น้ำ 6-13% ไขมัน 5-10% แร่ธาตุอาหาร 3-7% น้ำมันหอมระเหย 3-7% ไยอาหาร 2-7% และเคอร์คูมินอยด์ 1-6% นอกจากนี้เรายังพบสารที่มีความน่าสนใจในขมิ้นอีกมากมาย คือ Tumerone, Zingerene bissboline, Alpha-phellandrene ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ไปยับยั้งการเกิดกระบวนการ oxidation ในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารอื่นได้อย่างสะดวก 

ถ้าพูดถึงขมิ้นก็ต้องพูดถึงสีที่เหลืองสดโดยสารให้สีที่มีอยู่ในขมิ้นมีชื่อว่า Curcumin เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีสีส้มเหลือง การใช้ขมิ้นเป็นสีย้อม ทำได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลานาน แต่ในประเทศอินเดียก็นิยมใช้อยู่และพระสงฆ์ในสมัยก่อนก็ย้อมสีจีวรด้วยขมิ้น ปัจจุบันนั้นขมิ้นกลายเป็นสารเจือปนอาหารประเภท E100 (Curcumin) ที่มาจากธรรมชาติ สามารถใช้เจือปนในอาหารได้ เช่น น้ำสลัด เนย ชีส เป็นต้น อีกทั้งได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก รัฐสภายุโรป และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค 

สรรพคุณของขมิ้น 

ขมิ้นถือเป็นพืชสมุนไพรชนิดนึง แน่นอนว่าต้องให้ประโยชน์แน่นอน เพราะในปัจจุบันก็มีการสกัดขมิ้นให้อยู่ในรูปแคปซูล เพื่อบริโภคเป็นอาหารเสริม ซึ่งสรรพคุณของขมิ้นมีดังนี้ 

  • มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ เพราะขมิ้นจะไปยับยั้งสาเหตุการเกิดกรดจากแบคทีเรีย Lactobacillus acldophilus และ Lactobacillus planturum 
  • มีฤทธิ์เป็นยานอนหลับ เนื่องจากสาร curcumin มีการทำงานคล้ายยากล่อมประสาทที่ใช้กันในทางการแพทย์ 
  • ช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย การเกิดสารอนุมูลอิสระคือต้นตอของความแก้ชราและโรคต่าง ๆ 
  • สามารถเพิ่มการรับรู้ของระบบประสาทได้ โดยไปเพิ่มระดับโปรตีน BDNF ในสมองทำให้เพิ่มขึ้น โดยปกติแล้วโปรตีน BDNF มีบทบาทในเรื่องความจำและการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ฉะนั้นการบริโภคขมิ้นจำทำให้ความจำและการเรียนรู้ของสมองดีขึ้น ซึ่งดีต่อผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มาก ๆ 
  • ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ เพราะสาร curcumin ในขมิ้นไปช่วยปรับปรุงการทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดให้ทำงานดีขึ้น 
  • ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ มีการศึกษาว่าสาร curcumin ไปช่วยหยุดการลุกลามของมะเร็ง ลดการเจริญเติบโตของเส้นเลือดฝอยในเนื้องอก และช่วยให้เซลล์มะเร็งตายลง 
  • บรรเทาอาการโรคข้ออักเสบ โดยมีการศึกษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และการตอบสนองของขมิ้น พบว่าขมิ้นไปช่วยลดการอักเสบของข้อต่อ ซึ่งที่น่าสนใจคือมีประสิทธิภาพกว่ายาแก้อักเสบเสียอีก 
  • มีผลดีต่อภาวะซึมเศร้า มีการทดลองโดยแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มที่ 1 ใช้โพรแซก ซึ่งเป็นยารักษาโรคซึมเศร้า กลุ่มที่ 2 ใช้สาร curcumin จากขมิ้น และกลุ่มที่ 3 ใช้ทั้งโพรแซกและสาร curcumin ผ่านไป 6 สัปดาห์พบว่ากลุ่มที่ 2 และ กลุ่มที่ 3 มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ดีขึ้น 
  • ช่วยรักษาอาการท้องผูกได้ เนื่องจากขมิ้นมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ 
  • ช่วยบำรุงตับได้ ป้องกันตับจากการถูกทำลายของพาราเซตามอล 
  • ในด้านความงาม ขมิ้นผงสามารถใช้ขัดผิวได้ ไปช่วยทำให้ผิวผ่องใส รักษาสิวเสี้ยว สิวผด อีกทั้งยังมีการสกัดขมิ้นลงไปในเครื่องสำอาง

ข้อควรระวังที่ควรรู้เกี่ยวกับขมิ้น

ถึงแม้ว่าขมิ้นจะเป็นสมุนไพรที่ให้ประโยชน์เยอะมากมายและทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อควรระวังที่เราต้องรู้อีกด้วย 

  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานขมิ้นในจำนวนมาก ๆ เพราะขมิ้นเป็นตัวที่กระตุ้นให้มีประจำเดือน กระตุ้นมดลูก 
  • สตรีให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารเสริมที่มีขมิ้น เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันว่าปลอดภัย
  • สามารถทำให้ถุงน้ำดีแย่ลง หากเราเป็นโรคนิ่วหรือท่อน้ำดีอุดตัน ก็ควรเลี่ยงการบริโภคขมิ่น
  • ทำให้เลือดแข็งตัวช้า โดยการบริโภคขมิ้นเพิ่มการช้ำของเลือดและกระตุ้นภาวะเลือดออกในผู้ที่มีปัญหาผิดปกติ และควรหลีกเลี่ยงเลยหากเรากำลังรับประทานยาแอสไพริน เฮปาริน และ ไดโคฟีแนค เพราะขมิ้นจะไปทำให้ยาดังกล่าวลดการแข็งตัวของเลือดขึ้น 
  • ในขมิ้นมีสาร curcumin ที่ไปทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน  ในทางทฤษฎีนั้นพบว่าส่งผลต่อความไวต่อเยื่อบุโพรงมดลูก 
  • อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ขมิ้นสามารถไปลดระดับฮอร์โมนเพศชายลง หากบริโภคจำนวนมาก 
  • อาจทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก การรับประทานขมิ้นในปริมาณมาก ซึ่งจะไปป้องกันการดูดซึมของเหล็ก
  • ผู้ที่เพิ่มผ่านการผ่าตัดมา ไม่ควรบริโภคขมิ้น เพราะทำให้เลือดแข็งตัวช้า ดังนั้นควรหยุดบริโภคขมิ้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด 

ปริมาณขมิ้นที่ควรบริโภค

หลายคนอาจจะกังวลว่าแค่รับประทานขมิ้นแล้วทำไมข้อควรระวังมีเยอะ แต่เราก็สามารถรับประทานได้ แค่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉลี่ยแล้วมีการบริโภคขมิ้นราว ๆ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปริมาณของขมิ้นที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปริมาณสาร curcumin ในขมิ้น ในอาหารอินเดียประกอบไปด้วยขมิ้น 2,000 ถึง 2,500 มิลลิกรัมต่อจานและมีปริมาณ curcumin 60-100 มิลลิกรัม เปรียบเทียบในรูปของแคปซูลอาหารเสริมทั่วไปที่มี curcumin สูงถึง 1,900-2,375 มิลิลิกรัมต่อ 1 แคปซูลเลย ซึ่งสูงมากเกินไป เพราะในระยะยาวอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งเราจะมายกตัวอย่างปริมาณการใช้ขมิ้นในรูปแคปซูลในปริมาณที่เหมาะสมกัน  

  • ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ควรบริโภคขมิ้นวันละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ไม่เกิน 3 เดือน
  • ผู้ที่มีปัญหาผิวหนัง ควรบริโภคขมิ้น 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ไม่เกิน 2 เดือน
  • ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง ควรบริโภคขมิ้น 700 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ไม่เกิน 3 เดือน

เราจะเห็นได้ว่าการบริโภคขมิ้นไม่ได้มีการบริโภคในระยะยาวแต่เป็นเพียงการบริโภคในระยะสั้นเท่านั้นอย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าเราสามารถบริโภคขมิ้นได้ 0.3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหน่วยกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ร่างกายสามารถรับได้นั่นเอง

สรุป

เราสามารถสรุปเลยว่าขมิ้นคือพืชสมุนไพรที่น่าสนใจ สรรพคุณของขมิ้นก็มีเยอะมากมาย แต่ข้อควรระวังก็มีเยอะเช่นเดียวกัน หากใครที่กำลังคิดว่าจะบริโภคขมิ้นเป็นอาหารเสริม ก็อย่าลืมเช็คปริมาณสาร curcumin ข้างกล่องให้ดีก่อนว่ามีปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ ร่างกายเราสามารถบริโภคได้หรือเปล่า มิฉะนั้นการบริโภคขมิ้นเพื่อประโยชน์จะกลายเป็นโทษแทน