Curcumin เป็นสารในกลุ่มของเคอร์คูมินอยด์ ที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างมาก เพราะมันสกัดมาจากขมิ้น ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ใครหลาย ๆ คนมองข้าม ฉะนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Curcumin กัน เพราะอะไรทำไมต้องมีการสกัดอย่างเข้มข้นออกมา
Curcumin คืออะไร
ก่อนอื่นเราต้องมาย้อนดูประวัติของสารชนิดนี้กันก่อน เนื่องจากความน่าสนใจอย่างมาก Curcumin หรือเคอร์คูมิน ได้รับการตั้งชื่อในปี 1815 เมื่อ Vogel และ Pierre Joseph Pelletier ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส รายงานการแยก “สารสีเหลือง” ออกจากเหง้าขมิ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาพบว่าเป็นส่วนผสมของเรซินและน้ำมันขมิ้นชันในปี 1910 Milobedzka และ Lampe นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ก็ได้รายงานโครงสร้างทางเคมีของ curcumin ว่าเป็น diferuloylmethane ต่อมาในปี 1913 การสังเคราะห์สารประกอบของ Curcumin ก็ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากินเวลามาเกือบ 100 ปีเลยทีเดียว
Curcumin เป็นสารเคมีสีเหลืองที่ผลิตโดยพืชในสายพันธุ์ Curcuma longa เป็นเคอร์คูมินอยด์หลักของขมิ้น หรือ Curcuma longa ซึ่งเป็นหนึ่งในสารของตระกูลขิง Zingiberaceae ที่มีการจำหน่ายเป็นอาหารเสริมสมุนไพร ส่วนผสมเครื่องสำอาง วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร และสีผสมอาหาร ในทางเคมี เคอร์คูมินเป็นไดอาริลเฮปตานอยด์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเคอร์คูมินอยด์ ซึ่งเป็นเม็ดสีฟีนอลที่ทำให้ขมิ้นมีสีเหลือง ดังนั้นจึงมีการนิยมนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในเครื่องสำอาง เป็นเครื่องปรุงสำหรับอาหาร เช่น เครื่องดื่มรสขมิ้นในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้เป็นสีสำหรับอาหาร เช่น ผงกะหรี่ มัสตาร์ด เนย ชีส ที่สำคัญก็คือ Curcumin ยังทำหน้าที่เป็นวัตถุเจือปนอาหารสำหรับสีส้มเหลืองในอาหารที่ปรุงสำเร็จ โดยมีรหัสหมายเลขคือ E 100 ในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้เป็นสีผสมอาหารในสหรัฐอเมริกา
ประโยชน์ของ Curcumin
-
เป็นสารต้านการอักเสบ
เคอร์คูมินช่วยรักษาอาการอักเสบและเคอร์คูมินยังเป็นยาแก้อักเสบที่มีประสิทธิภาพมากกว่ายารักษาอาการอักเสบทั่วไปเช่นแอดวิล (ไอบูโพรเฟน) และแอสไพริน เนื่องจากการอักเสบเรื้อรังก่อให้เกิดโรคเรื้อรังมากมาย ดังนั้นเคอร์คูมินจึงช่วยรักษาและบรรเทาอาการอักเสบของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ และโรคข้ออักเสบ
-
ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
เคอร์คูมินช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุผนังหลอดเลือดหรือสุขภาพของเยื่อบางๆที่ปกคลุมภายในหัวใจและหลอดเลือดเมมเบรนหรือเนื้อเยื่อเลือกผ่านนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันโลหิตการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดล่างยังมีความเกี่ยวข้องกับอายุหากเราอายุเพิ่มขึ้นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจก็เพิ่มขึ้นดังนั้นเคอร์คูมินจะช่วยป้องกันชะลอการเสื่อมสภาพการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้
มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่นักวิจัยได้เปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายและการบริโภคเคอร์คูมินควบคู่กันไปด้วยของสตรีวัยหมดประจำเดือนพบว่าการบริโภคอาหารเสริมเคอร์คูมินช่วยในการการปรับปรุงการทำงานของบุผนังหลอดเลือดซึ่งดูได้จากผลของ endothelial ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
-
ช่วยป้องกันและรักษามะเร็งบางชนิดได้
การอักเสบเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเนื้องอกสารต้านการอักเสบเช่นเคอร์คูมินมีบทบาทในการรักษาและป้องกันมะเร็งหลายชนิดรวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ตับอ่อนต่อมลูกหมากมะเร็งเต้านมและมะเร็งกระเพาะอาหารมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเคอร์คูมินช่วยชะลอการแพร่กระจายของเซลล์เนื้องอกและป้องกันไม่ให้เนื้องอกเจริญเติบโตมากขึ้นรวมถึงการขัดขวางการสร้างเซลล์มะเร็งในระยะต่างๆของวัฏจักรเซลล์โดยการรบกวนเส้นทางการส่งสัญญาณของเซลล์และแม้กระทั่งทำให้เซลล์มะเร็งเหล่านั้นตาย
-
ช่วยบรรเทาอาการข้อเสื่อมได้
เคอร์คูมินคือหนึ่งในทางเลือกในการรักษาระยะยาวที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม (OA) ซึ่งในทางการแพทย์ได้มีการใช้เคอร์คูมินอย่างแพร่หลายมากขึ้น ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากไม่ส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยในระยะยาว อีกทั้งความเสี่ยงยังน้อยอีกด้วย
-
ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
เคอร์คูมินช่วยรักษาและป้องกันโรคเบาหวานเช่นเดียวกับความผิดปกติแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเช่นโรคไตจากเบาหวานโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้เคอร์คูมินยังช่วยเสริมเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคเบาหวานที่ดีมากขึ้น ต่อต้านการดื้อของอินซูลินและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น
-
ช่วยรักษาอาการอัลไซเมอร์
เคอร์คูมินนั้นช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองของเราด้วยการชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ด้วยการไปเพิ่มระดับของ BDNF ในสมอง ซึ่ง BDNF คือโปรตีนที่สามารถพบได้ในสมองและเส้นประสาท ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่จะทำให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้ นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของสมองในส่วนของความจำอีกด้วย
-
ช่วยรักษาอาการของโรคซึมเศร้า
โรคอัลไซเมอร์นั้นเกี่ยวข้องกับระดับของ BDNF ในสมอง ซึ่งเคอร์คูมินมีความสามารถในการปรับปรุงประสิทธิภาพของ BDNF ได้ และนั่นหมายความว่ายังเป็นตัวช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยา oxidation ได้ มีการศึกษาพบว่าการบริโภคสารสกัดจากเคอร์คูมินวันละ 50-2000 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถช่วยความเครียด และส่งเสริมระดับของ BDNF ได้
-
ช่วยรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้
จากการศึกษาพบว่าเคอร์คูมินสามารถช่วยรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในนักกีฬาได้ซึ่งเป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นในข้อต่อของร่างกายและดูเหมือนว่าการอักเสบนี้จะสามารถลุกลามได้ไม่ว่าจะเป็นบริเวณของตาปอดผิวหนังหัวใจและเส้นเลือดฝอยมีการศึกษาหนึ่งพบว่าการบริโภคอาหารเสริมที่มีเคอร์คูมินปริมาณ 500 มิลลิกรัม ช่วยลดการอักเสบของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้
-
ช่วยในเรื่องผิวพรรณ
เป็นที่ทราบกันดีว่าเคอร์คูมินเป็นสารต้านการอักเสบและอีกทั้งยังมีคุณสมบัติในเรื่องของการต้านสารอนุมูลอิสระสุขภาพผิวนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของสารอนุมูลอิสระในผิวซึ่งแน่นอนว่าหากมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุขภาพผิวของเราก็จะดีขึ้นไปด้วย
-
ปกป้องร่างกายของเราจากอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องร่างกายของเราจากความเสียหายที่สามารถเกิดขึ้นในร่างกายที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระนั้นเกิดจากปฏิกิริยา oxidation และพบได้ในมลภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่และสารเคมีทางอุตสาหกรรม การได้รับอนุมูลอิสระมากเกินไปอาจทำให้ระบบในร่างกายของเราแปรปรวน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคและปัญหาภาวะสุขภาพทั่วไปหลายอย่าง เช่น มะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ และอัลไซเมอร์
ข้อควรระวังของ Curcumin
โดยปกติแล้วเคอร์คูมินสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของลิ่มเลือดได้ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดดังนั้นหากเราใช้ยา Coumadin หรือ Jantoven (วาร์ฟาริน) เราจำเป็นต้องระวัง ตามงานวิจัยของ Oregon State University ได้แสดงให้เห็นว่า เคอร์คูมินมีคุณสมบัติในการต้านการแข็งตัวของเลือดในตัวเอง ฉะนั้นการที่สารเคอร์คูมินเข้าไปทำปฏิกิริยากับลิ่มเลือดนั้น เป็นสิ่งที่เสี่ยงอย่างมาก
นอกจากนี้หากเรากำลังใช้ยาเบาหวานเพื่อลดน้ำตาลในเลือดเคอร์คูมินอาจจะทำให้เราเสี่ยงต่อน้ำตาลในเลือดต่ำโดยอ้างอิงจากข้อมูลของ Penn State Hershey ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมเคอร์คูมิน ในวารสารอเมริกัน Ethnopharmacology ปี 2017 ก็เคยออกเตือนว่า เคอร์คูมินและขมิ้นอาจมีปฏิกิริยากับยาหลายชนิด รวมถึงยาซึมเศร้า ยาปฏิชีวนะ ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคหัวใจ และเคมีบำบัด อีกทั้งหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร อาจกินอาหารที่มีส่วนผสมของขมิ้นได้อย่างปลอดภัย แต่ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสารสกัดจากขมิ้นในรูปแบบอาหารเสริม หรือหากต้องการรับประทานจริง ๆ ก็ควรมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน
ปริมาณ Curcumin ที่ควรได้รับต่อวัน
การศึกษาส่วนใหญ่พบว่าอาหารเสริม Curcumin ที่บรรจุในแคปซูล จะมีปริมาณระหว่าง 500-2,000 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในหนึ่งวัน ปริมาณนี้มาในรูปแบบของสารสกัด ซึ่งมีความเข้มข้นของเคอร์คูมินสูง มีการศึกษาที่น่าสนใจพบว่าปริมาณการใช้สารสกัดเคอร์คูมินในระยะสั้นสูงถึง 8 กรัมนั้น ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ กลับกันการใช้ในปริมาณที่สูงถึง 8 กรัม ยังให้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ ทว่าทางการแพทย์ก็ไม่แนะนำให้ใช้ในระยะยาว เพราะปัจจุบันการค้นคว้าเรื่องการใช้เคอร์คูมินที่มากกว่า 2,000 มิลลิกรัมนั้นมีข้อมูลไม่เพียงพอ ที่จะสามารถยืนยันความปลอดภัยของผู้บริโภคได้
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ถือว่า 1.4 มิลลิกรัมของเคอร์คูมินต่อปอนด์ของน้ำหนักตัว หรือ 0–3 มิลลิกรัมของเคอร์คูมินต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว เป็นปริมาณที่แนะนำต่อวัน (ADI) ซึ่งปริมาณนี้เป็นปริมาณที่ปลอดภัยและสามารถยอมรับได้ เพื่อจุดประสงค์คือต้องการลดอาการปวดข้ออักเสบ ลดการอักเสบ หรือปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพสุขภาพโดยรวม
อย่างไรก็ตามยังมีการศึกษาการดูดซึมของร่างกายและสารเคอร์คูมินและมีการแนะนำอีกด้วยว่าอาหารเสริมจากขมิ้นที่ดีที่สุดมักจะมีส่วนผสมของเคอร์คูมิน 150-250 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคหรือหนึ่งแคปซูล เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ง่ายและทันที โดยที่ไม่ต้องขับออกมาทางปัสสาวะ เมื่อใช้ไม่หมดและควรบรรจุสารที่ให้ประโยชน์อื่น ๆ ไปด้วย ซึ่งหากเรากำลังมองหาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคปซูลเคอร์คูมินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เราควรอ่านฉลาก อย่าซื้อผงรากขมิ้นบริสุทธิ์ เว้นแต่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์จะเขียนว่ามีส่วนประกอบของเคอร์คูมิน เนื่องจากขมิ้นผงไม่ได้มีปริมาณของเคอร์คูมินที่เพียงพอต่อความต้องการของเรา
สรุป
เราสามารถสรุปได้ว่าเคอร์คูมินคือสารสกัดจากขมิ้น ที่มีหน้าที่หลักในการช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย เป็นอาหารเสริมทางเลือกที่เราจะเลือกบริโภคหรือไม่ก็ได้ ใครที่ต้องการอยากให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น การบริโภคเคอร์คูมินคือตัวเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าจะให้ประโยชน์ แต่การบริโภคก็ยังมีข้อควรระวังอยู่ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจบริโภค เราควรมีการอ่านฉลาก สำรวจตัวเอง และปรึกษาแพทย์ก่อน
อ้างอิง
Kris Gunnars. 2021. 10 Proven Health Benefits of Turmeric and Curcumin. Available at: https://www.healthline.com/nutrition/top-10-evidence-based-health-benefits-of-t urmericCathy
Sharon O’Breien. 2018. Turmeric vs Curcumin. Available at: https://www.healthline.com/nutrition/turmeric-vs-curcumin