Cranberry (แครนเบอร์รี่) คือ ผลไม้สีแดงสดในตระกูลเบอร์รี่ เป็นผลไม้ในกลุ่มของไม้พุ่มแคระ ในประเทศอังกฤษแครนเบอร์รี่คือพืชพื้นเมือง ลักษณะสำคัญเลยคือมีลำต้นที่เรียว แข็งแรง ไม่เป็นไม้หนา เขียวชอุ่มตลอดปี ดอกไม้ของแครนเบอร์รี่มีสีชมพูเข้ม ผลของแครนเบอร์รี่ตอนแรกจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกก็จะเป็นสีแดง รสเปรี้ยวแซมหวาน แต่รสหวานจะโดดเด่นกว่า ส่วนใบของแครนเบอร์รี่ก็สามารถนำไปรักษาแผลพุพอง แผลไฟไหม้ได้อีกด้วย
ประโยชน์แครนเบอร์รี่
หากเราสังเกตตามร้านเภสัชกร เราจะพบอาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับแครนเบอร์รี่จำนวนมาก มีการสกัดเอาแครนเบอร์รี่เข้มข้นมาเป็นเม็ดแคปซูล ที่รวบรวมวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิด ซึ่งแครนเบอร์รี่ 1 ผล อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเค แมงกานีส ทองแดง และวิตามินอี นอกจากนี้เรายังพบสารชีวภาพอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น Quercetin, Peonidin, Myricetin, Ursolic Acid และ Salicylic Acid คุณค่าทางสารอาหารที่เราพบทั้งหมดในแครนเบอร์รี่ส่งผลต่อร่างกายเราดังนี้
- การบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่ทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เพราะไปช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลดี และลดระดับคอเลสรอลเสีย LDL ลง
- การบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่สดคั้นประมาณ 450-500 มิลลิลิตรทุกวัน ทำให้ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้ เพราะแครนเบอร์รี่ประกอบไปด้วยสาร polyphenol และ proanthocyanin ที่ไปช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- สามารถต้านเชื้อเอชไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและร้ายแรงที่สุดก็สามารถนำไปสู่การเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ในทางการแพทย์เชื่อกันว่าแครนเบอร์รี่สามารถฆ่าเชื้อเอชไพโลไรได้
- แครนเบอร์รี่สามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนเชื้อ E. coli ในระบบทางเดิมปัสสาวะได้ เพราะจะไปช่วยไม่ให้เชื้อ E. coli เกาะตามผนังกระเพาะปัสสาวะ
- ช่วยทำให้การย่อยอาหารของเราดีขึ้น เพราะไปช่วยเพิ่มการทำงานของแบคทีเรียที่ชื่อว่า H. pylori ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นแบคทีเรียดีที่มีหน้าที่ย่อยอาหาร
- สามารถบำรุงสุขภาพของหญิงหมดประจำเดือนได้เป็นอย่างดี มีการศึกษาในหนูตัวเมีย ที่มีการตัดรังไข่ออกไป ทำให้ไม่สามารถไข่เพื่อปฏิสนธิได้ พบว่าแครนเบอร์รี่มีส่วนช่วยทำให้ลดระดับคอเลสเตอรอลลง
- ช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะแครนเบอร์รี่ 100 กรัม ให้ค่าพลังงาน 46.4 กิโลแคลอรี่ สามารถรับประทานเป็นอาหารว่างได้แทนขนมทอดกรอบที่ให้ค่าพลังงานสูง ๆ
ผลข้างเคียงของแครนเบอร์รี่
ถึงแม้ว่าแครนเบอร์รี่จะดูเหมือนเป็นผลไม้น่ารักสีแดงน่ารับประทานแต่ทว่าผลข้างเคียงจากการรับประทานพืชผลชนิดนี้ยังมีอยู่ซึ่งโดยส่วนมากหากดื่มมากเกินไปจะเกิดอาการที่เรียกว่า Abdominal cramping หรืออาการปวดท้องเฉียบพลัน เป็นโรคที่เกี่ยวกับไต เช่น โรคนิ่วในไต สาเหตุก็คือการได้รับปริมาณแร่ธาตุในแครนเบอร์รี่มากเกินความจำเป็น โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะขับพวกสารที่ไม่จำเป็นและถูกดูดซึมเรียบร้อยในรูปของเสียออกทางท่อปัสสาวะ ด้วยโมเลกุลของสารแร่ธาตุที่เยอะ หนัก และหนาแน่น รวมตัวกันเป็นก้อนไม่สามารถตกตะกอนได้ จึงทำให้กลายเป็นก้อนนิ่วแข็ง ๆ ในที่สุด นอกเหนือจากโรคนิ่วในไตแล้ว ผลข้างเคียงและการพิสูจน์ของงานวิจัยผลแครนเบอร์รี่ก็ยังมีอยู่ เช่น มีงานวิจัยออกมาบอกว่าการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่เป็นเวลานานติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนของผู้ทดลอง ปรากฎว่าทำให้ความดันโลหิตและค่า BMI ของผู้ทดลองเพิ่มขึ้น และอาจจะมีโอกาสนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินอาหาร เพราะไปช่วยเพิ่มการทำงานของแบคทีเรีย H. pylori ให้ทำงานได้ดี นั่นกลายเป็นว่าการบริโภคแครนเบอร์รี่เป็นดาบสองคม นอกเหนือจากการรับประทานผลแครนเบอร์รี่แล้วเกิดผลข้างเคียงแล้ว น้ำแครนเบอร์รี่ก็ส่งผลเช่นเดียวกัน บ่อยครั้งที่เราดื่มแล้วรู้สึกว่ารสชาติหวาน เปรี้ยว อร่อย แต่หารู้ไม่ว่าคือการใส่น้ำตาลเพิ่มลงไป ปริมาณน้ำตาลในผลแครนเบอร์รี่สดนั้นจริง ๆ มีน้อยมาก และบางครั้งก็มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยอ้างว่าน้ำตาล 0% อาจจะเป็นความจริงที่เครื่องดื่มน้ำแครนเบอร์รี่คั้นไม่มีน้ำตาล แต่มีการใส่สารทดแทนความหวานประเภทต่าง ๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นแอสปาแตม สตีเวีย เป็นต้น ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกสุขภาพ กลับกันสารพวกนี้ก็ส่งผลเสียต่อร่างกาย หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ท้องเสีย ปวดท้องได้ ฉะนั้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแครนเบอร์รี่ ควรศึกษาฉลากโภชนาการทุกครั้ง
ข้อควรระวังการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่
เมื่อเรารู้ถึงผลข้างเคียงแล้ว สิ่งที่เราควรรู้คือมีข้อควรระวังอะไรบ้างที่เราต้องทราบ หากตัดสินใจดื่มน้ำแครนเบอร์รี่
- สตรีมีครรภ์หรือผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตรอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการดื่มนั้นปลอดภัย
- ผู้ที่แพ้ยาแอสไพรินควรหลีกเลี่ยงการดื่ม เนื่องจากในแครนเบอร์รี่มีปริมาณกรด Salicylic มาก ซึ่งกรด Salicylic อาจจะบ่งบอกถึงความเป็นกรดของอาหาร เพราะปริมาณกรดในแอสไพริน ใกล้เคียงกับกรด Salicylic ฉะนั้นมันจะดีกว่าหากเราเลือกที่จะหลีกเลี่ยง
- ผู้ที่เป็นโรคนิ่วในไต น้ำแครนเบอร์รี่และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สกัดมาจากแครนเบอร์รี่ พบว่ามีปริมาณสารเคมีที่เรียกว่าออกซาเลตเป็นจำนวนมาก สารออกซาเลตนี้จะไปเพิ่มปริมาณออกซาเลตที่มีอยู่แล้วในปัสสาวะ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เพราะเครื่องดื่มที่ทำมาจากแครนเบอร์รี่มักจะใส่น้ำตาลเยอะ
- ใครที่กำลังใช้ยา Warfarin ซึ่งเป็นยาที่ช่วยชะลอการแข็งตัวของเลือด น้ำแครนเบอร์รี่จะไปทำให้ร่างกายเกิดอาการช้ำและมีเลือดออก ฉะนั้นควรตรวจเลือดเป็นประจำ
ปริมาณแครนเบอร์รี่ที่เหมาะสมต่อการบริโภคต่อวัน
ในการบริโภคแครนเบอร์รี่ ไม่ได้มีการจำกัดว่าเพศใด อายุเท่าไหร่สามารถบริโภคได้ แต่การบริโภคต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย ดังนี้
- ในน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของแครนเบอร์รี่หรือพวกค็อกเทล ควรมีปริมาณน้ำแครนเบอร์รี่คั้นสด 26% ของแก้วเท่านั้น
- น้ำแครนเบอร์รี่สดเพียว ๆ ควรบริโภคประมาณ 30 ml ต่อวัน
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแครนเบอร์รี่ควรบริโภคมากที่สุดแค่ 400 mg ต่อวัน
สรุป
เลยว่าแครนเบอร์รี่คือผลไม้ที่อุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย ดีต่อระบบต่าง ๆ ที่สำคัญต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน แต่ทว่าการบริโภคนั้นก็ยังมีข้อควรระวังอยู่ หากใครที่ตัดสินใจจะบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคจากน้ำผลไม้คั้นสด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือจากผลแครนเบอร์รี่สด ควรศึกษาฉลากข้างกล่องอย่างเคร่งครัดและบริโภคในปริมาณที่เหมาสม