Coconut oil หรือน้ำมันมะพร้าว คือหนึ่งในน้ำมันที่เราคุ้นเคยกัน น้ำมันมะพร้าวสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า เนื่องจากประเทศไทยของเราสามารถปลูกมะพร้าวได้ แต่ถ้าต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบประเทศยุโรป การหาซื้อน้ำมันมะพร้าว เรียกได้ว่ายากมาก ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับน้ำมันมะพร้าวกัน มาดูกันว่าทำไม มันจึงกลายเป็นสิ่งที่สายรักสุขภาพชอบรับประทาน
น้ำมันมะพร้าวคืออะไร
ความคุ้นหน้าคุ้นตาของน้ำมันมะพร้าว คือการเอามาประกอบอาหาร รวมไปถึงมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันมะพร้าว สามารถเรียกอีกอย่างนึงได้ว่าเนยมะพร้าว เป็นน้ำมันที่สามารถบริโภคได้ ซึ่งได้มาจากไส้มะพร้าว เนื้อมะพร้าว และนมมะพร้าว จะมีลักษณะเป็นเป็นไขมันของแข็งสีขาว ละลายได้ที่อุณหภูมิห้องหรืออุณหภูมิที่สูงกว่า 25 °C หรือ 78 °F ในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงฤดูร้อน น้ำมันมะพร้าวจะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำมันเหลวชนิดที่บางและใส ในการผลิตน้ำมันมะพร้าวนั้น จะแบ่งตามระดับของความบริสุทธิ์ น้ำมันมะพร้าวที่ไม่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์จะมีกลิ่นมะพร้าวที่ชัดเจนมาก มักจะถูกใช้เป็นน้ำมันสำหรับอาหารและในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและการผลิตผงซักฟอก เนื่องจากมีระดับไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งการบริโภคน้ำมันมะพร้าวนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยงในระดับนึง หากเราบริโภคมาเกินไป เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัวที่สูง แต่ทว่าการใช้น้ำมันมะพร้าว ก็ยังให้ประโยชน์ที่มากกว่าการใช้น้ำมันพืชธรรมดาทั่วไป
ในการผลิตน้ำมันมะพร้าวเพื่อการบริโภคในอุตสาหกรรมสามารถทำได้หลายวิธีมากซึ่งเราสามารถแยกย่อยได้ดังนี้
– Wet process
Wet process เป็นกระบวนการเปียกตามชื่อ ซึ่งหมายถึงตลอดทั้งกระบวนการมีแต่ของเหลวเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะเป็นการสกัดน้ำมันมะพร้าวจากกะทิ ซึ่งกะทิที่ได้นั้นก็มาจากการสกัดในเนื้อมะพร้าวอีกที โปรตีนในกะทิจะสร้างอิมัลชันของน้ำมันและน้ำ ขั้นตอนที่มีความยากมาก คือการสลายอิมัลชันเพื่อนำน้ำมันกลับมาใช้ใหม่ ในสมัยก่อนทำได้โดยการต้มนาน ๆ แต่มันจะทำให้ได้น้ำมันที่เปลี่ยนสี ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เทคนิคสมัยใหม่ คือการใช้เครื่องหมุนเหวี่ยงและมีการควบคุมร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นความเย็น ความร้อน กรด เกลือ เอนไซม์ อิเล็กโทรลิซิส คลื่นกระแทกที่ใช้หมุนเหวี่ยงเป็นค้น
– Dry process
Dry process หรือกระบวนการทำแห้ง เป็นวิธีเก่าแก่ การทำแห้งมีจุดประสงค์เพื่อ ต้องการสกัดเนื้อออกจากเปลือก แล้วตากให้แห้งโดยใช้ไฟ แสงแดด หรือเตาเผาเพื่อทำให้เนื้อมะพร้าวมีความแห้ง ปริมาณน้ำอิสระน้อย เนื้อมะพร้าวแห้งจะถูกนำมาสกัด โดยถูกละลายด้วยตัวทำละลายที่ไม่ชอบน้ำ เช่น เอทานอล หรือเฮกเซน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์สุดท้ายของน้ำมันมะพร้าว ที่มาจากกระบวนการทำแห้งจะมีส่วนผสมโปรตีนและมีเส้นใยที่สูง ส่วนกากที่ได้จากการสกัด สามารถเอาไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้
– Hydrogenation
Hydrogenation จะเป็นกระบวนการทางเคมี ที่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือทั้งหมดในน้ำมันมะพร้าว เพื่อเพิ่มจุดหลอมเหลว เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สามารถละลายที่ 24 °C หรือ 76 °F ทำให้อาหารที่มีน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนผสมมักจะละลายในสภาพอากาศที่ร้อน ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวที่ถูกเติมไฮโดรเจน จะทำให้จุดหลอมเหลวของน้ำมันมะพร้าวเปลี่ยนเป็น 36-40 °C หรือ 97–104 °F
คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 121 แคลอรี โปรตีน 0 กรัม ไขมันรวม 13.5 กรัม ซึ่งมีไขมันอิ่มตัว 11.2 กรัม คอเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม วิตามินอี และมีวิตามินหรือแร่ธาตุอื่น ๆ เพียงเล็กน้อย น้ำมันมะพร้าวมีไขมันเกือบ 100% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมันอิ่มตัว อย่างไรก็ตามโครงสร้างของไขมันในน้ำมันมะพร้าวแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ไขมันจากสัตว์หลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยกรดไขมันสายยาว
หลายคนอาจจะกังวลว่าทำไมน้ำมันมะพร้าวจึงกลายเป็นน้ำมันคุณภาพดีแต่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัวที่เยอะมากนั่นก็เพราะน้ำมันมะพร้าวมีค่า MCTs ที่สูง ซึ่งแสดงให้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนน้ำมันมะพร้าวให้เป็นไขมันสะสมได้ยาก ฉะนั้นเมื่อเราบริโภคไป มันจะถูกดูดซึมไปใช้ได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังสามารถเผาผลาญได้ง่ายกว่าไตรกลีเซอไรด์สายยาว (LCTs) หรือน้ำมันพืชและไขมันจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ
เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีไขมันอิ่มตัวสูงจึงมีลักษณะที่กึ่งแข็งณอุณหภูมิห้องและสามารถละลายได้ที่ 24°C ดังนั้นการเก็บไว้ในตู้ที่อุณหภูมิห้อง จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแทนที่จะเก็บไว้ในตู้เย็น เนื่องจากการเปลี่ยนอุณหภูมิแบบฉับพลันของน้ำมันมะพร้าว อาจจะไปทำลายโครงสร้างของสารอาหารที่สำคัญได้
ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว
– ควบคุมน้ำตาลในเลือด
ผลการศึกษาจากการศึกษาในสัตว์ทดลองในปี 2019 ชี้ให้เห็นว่า MCTs ที่มีอยู่ในน้ำมันมะพร้าวช่วยรักษาความไวของอินซูลินได้
– ลดความเครียด
น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ น้ำมันมะพร้าวสามารถช่วยลดความเครียดที่เกิดจากปฎิกิริยา oxidation ได้ อีกทั้งนักวิจัยยังเชื่อว่า น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์อาจมีประโยชน์ในการรักษาภาวะโรคซึมเศร้าบาง ประเภท แต่ข้อสรุปนี้จำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ต่อไปในอนาคต
– ทำให้ผมเงางาม
การทาน้ำมันมะพร้าวบนเส้นผม สามารถช่วยเพิ่มความเงางามและปกป้องผมจากความเสียหายจากมลภาวะได้ โดยเฉพาะแสงแดด อีกทั้งน้ำมันมะพร้าวสามารถซาบซึมเข้าสู่หนังศีรษะได้ดีกว่าน้ำมันบำรุงผมทั่วไปอีกด้วย
– ทำให้ผิวสุขภาพดี
การใช้สารสกัดจากมะพร้าวบนผิวหนังขอเรา ช่วยเสริมการทำงานของเกราะป้องกันและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบบนผิวหนังได้ น้ำมันมะพร้าวยังประกอบไปด้วยวิตามินอีที่สูงมาก ทำให้ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวได้
– ป้องกันโรคแคนดิดา
น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ต้าน Candida albicans หรือ C. albicans ซึ่งเป็นเชื้อยีสต์ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคแคนดิดา เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวจะไปขัดขวางการของเชื้อยีสต์ตัวร้ายนี้ และมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ
– ป้องกันโรคตับ
มีการศึกษาปี 2017 ในหนูที่เป็นโรคตับ โดยในการทดลอง นักวิทยาศาสตร์ให้หนูกินอาหารที่มีน้ำตาลกลูโคสสูงและอาหารที่มีน้ำมันมะพร้าวสูง หนูที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวมีสุขภาพตับที่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ มากกว่าหนูที่ไม่ได้บริโภค นี่แสดงให้เห็นว่าในน้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบบางอย่างที่ช่วยปกป้องตับได้
– ช่วยรักษาสุขภาพของช่องปาก
มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในปี 2017 กล่าวว่าการกลั้วน้ำมันมะพร้าวรอบ ๆ ช่องปาก ในลักษณะเดียวกับน้ำยาบ้วนปาก สามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปากได้ อีกทั้งยังพบว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยป้องกันฟันผุ ป้องกันโรคเหงือกอักเสบ และส่งผลต่อความสมดุลของแบคทีเรียชนิดดีในช่องปาก
– มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย
น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติต้านจุลทรีย์และเชื้อรา เนื่องจากมีกรดลอริก กรดลอริกเป็นกรดไขมันที่ประกอบด้วย MCT หรือกรดไขมันที่จำเป็น ประมาณ 50% ในน้ำมันมะพร้าว มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยยับยั้งแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Streptococcus pyogenes และ Escherichia coli ป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนโดยไม่ฆ่าแบคทีเรีย
– บรรเทาอาการโรคอัลไซเมอร์ได้
โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อม ภาวะนี้ลดความสามารถของสมองในการใช้กลูโคสเป็นพลังงาน อย่างไรก็ตามนักวิจัยเชื่อว่า สารคีโตนสามารถรักษาอาการของโรคอัลไซเมอร์เริ่มต้นได้ โดยการจัดหาแหล่งพลังงานทางเลือกสำหรับเซลล์สมอง ทำให้ความสามารถของการใช้กลูโคสกลับมามีประสิทธิภาพอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้น้ำมันมะพร้าวที่มีสารคีโตนประกอบ จึงสามารถช่วยบรรเทาอาหารอัลไซเมอร์ได้นั่นเอง
ปริมาณที่เราควรบริโภคต่อวัน
น้ำมันมะพร้าวสามารถเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แม้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การรักษาโรคต่าง ๆ การฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผิวและผมแข็งแรงขึ้น และทำใผ้การเผาผลาญของเราเพิ่มขึ้น แต่การบริโภคน้ำมันมะพร้าว ก็คือการรับประทานน้ำมันหรือไขมัน การบริโภคปริมาณไขมันอิ่มตัวจากแหล่งอาหารทั้งหมดในแต่ละวัน โดยที่ปริมาณไขมันอิ่มตัวมาจากน้ำมันมะพร้าว ควรคิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า 10% ของแคลอรีทั้งหมดในแต่ละวัน ฉะนั้นเราสามารถบอกได้ว่า พลังงานที่เราควรได้รับจากน้ำมันมะพร้าวจะอยู่ที่ประมาณ 200 แคลอรี โดยพิจารณาจากพลังงานอาหาร 2,000 แคลอรี ที่เป็นค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป
น้ำมันมะพร้าวหนึ่งช้อนโต๊ะให้พลังงานประมาณ 117 แคลอรี ดังนั้นจึงเราควรจำกัดให้เหลือประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน แต่ควรใช้น้ำมันมะพร้าวเพื่อเป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อป้องกันการบริโภคที่มากเกินไป การบริโภคที่ได้ผลดีที่สุด ต้องบริโภคควบคู่ไปกับไขมันไม่อิ่มตัว เนื่องจากจะให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีมากขึ้น เช่น ช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือดต่ำลง และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ แหล่งของไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ ถั่ว เมล็ดพืช น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ และอะโวคาโด
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมน้ำมันมะพร้าวออกมาเพื่อให้เราได้เลือกซื้อกันเราก็สามารถเลือกบริโภคได้เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาเป็นทางลัดที่ทำให้เรายังได้ประโยชน์จากน้ำมันมะพร้าวอยู่
สรุป
เราสามารถสรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าว คือน้ำมันที่ต่างจากน้ำมันทั่ว ๆ ไป เนื่องจากมันมีประโยชน์ต่อเราอย่างมาก ช่วยให้เราได้รับสารอาหารต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการทำงานของสุขภาพไปในทางที่ดีขึ้นได้อีกด้วย แต่การบริโภคนั้นก็ยังมีข้อห้ามตรงที่ เราไม่ควรบริโภคมากจนเกินไป และต้องควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้การนำไปใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ้างอิง
Ariane Lang. 2021. 10 Evidence-Based Health Benefits of Coconut Oil. Available at: https://www.healthline.com/nutrition/top-10-evidence-based-health-benefits-of- coconut-oil
Natalie Butler. 2019. What to know about coconut oil Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/282857